วันศุกร์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

กฎหมายอาญา

หลักกฎหมายอาญาทั่วไป


ความผิดทางอาญาคืออะไร
ความผิดทางอาญา คือ การกระทำที่มีผลกระทบการเทือนต่อสังคม รัฐจึงต้องลงโทษผู้กระทำผิด โดยมีหลักสำคัญคือ
• การกระทำนั้นต้องมีกฎหมายกำหนดไว้ชัดแจ้ง
• โทษที่ลงต้องเป็นโทษที่กฎหมายกำหนดไว้
• กฎหมายต้องไม่มีผลย้อนหลัง
โทษอาญามีอะไรบ้าง
โทษอาญาที่ใช้ลงแก่ผู้กระทำผิดมี ๕ ประการเท่านั้น คือ
• ประหารชีวิต
• จำคุก
• กักขัง
• ปรับ
• ริบทรัพย์สิน


ความรับผิดทางอาญา
ผู้กระทำการที่กฎหมายกำหนดว่าเป็นความผิดจะต้องรับผิดทางอาญาเมื่อได้กระทำโดยเจตนาเท่านั้น เว้นแต่มีกฎหมายกำหนดไว้ว่าแม้ไม่ได้กระทำโดยเจตนาก็เป็นความผิด เช่น
• การกระทำโดยประมาท
• การกระทำความผิดลหุโทษ
ผู้กระทำการที่กฎหมายกำหนดว่าเป็นความผิดจะแก้ตัวว่าไม่รู้กฎหมายไม่ได้ เว้นแต่ศาลเห็นว่ามีเหตุผลสมควร
ข้อยกเว้นที่ไม่ต้องรับผิดในทางอาญา
เหตุยกเว้นความผิด ถือว่าผู้กระทำไม่มีความผิดอาญาเลย เช่น
• การป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย
• ผู้เสียหายยินยอมให้กระทำ
• มีกฎหมายประเพณี
• มีกฎหมายอื่นให้อำนาจกระทำได้
เหตุยกเว้นโทษทางอาญา ถือว่ายังเป็นความผิดอยู่แต่ผู้กระทำไม่ต้องรับโทษทางอาญา
• การกระทำความผิดด้วยความจำเป็น
• การกระทำความผิดเพราะความบกพร่องทางจิต
• การกระทำความผิดเพราะความมึนเมา
• การกระทำตามคำสั่งของเจ้าพนักงาน
• สามี ภริยา กระทำความผิดต่อกันในเรื่องทรัพย์
• เด็กอายุไม่เกิน ๑๔ ปี กระทำความผิด
เหตุลดหย่อนโทษ เป็นเหตุที่ศาลอาจลงโทษสถานเบาได้
• ศาลเชื่อว่าบุคคลนั้นไม่รู้กฎหมาย
• การกระทำโดยบันดาลโทสะ
• บุพการีกับผู้สืบสันดาน หรือพี่น้องที่การกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพย์
เด็กและเยาวชนกระทำความผิด
เด็กและเยาวชนที่กระทำความผิดอาจกระทำไปเพราะขาดความสำนึกเท่าผู้ใหญ่ โทษสำหรับเด็กจึงต้องแตกต่างกับผู้ใหญ่โดยแบ่งออก เป็น ๔ ระดับ คือ
• อายุ ไม่เกิน ๗ ปี ไม่ต้องรับโทษ
• อายุกว่า ๗ ปี แต่ไม่เกิน ๑๔ ปี ไม่ต้องรับโทษ แต่ศาลอาจว่ากล่าวตักเตือนและวางข้อกำหนดให้บิดามารดาปฏิบัติหรือส่งตัวเด็กไปให้หน่วยงานของรัฐ(บ้านเมตตา)
ดูแลอบรมสั่งสอนจนอายุครบ ๑๘ ปี
• อายุกว่า ๑๔ ปี แต่ไม่เกิน ๑๗ ปี อาจใช้วิธีการดังกล่าวข้างต้นหรือลงโทษเช่นเดียวกับผู้ใหญ่แต่ลดมาตราส่วนโทษลงกึ่งหนึ่ง
• อายุกว่า ๑๗ ปี แต่ไม่เกิน ๒๐ ปี ลงโทษเช่นเดียวกับผู้ใหญ่แต่ลดมาตราส่วนโทษลง ๑ ใน ๓ หรือ กึ่งหนึ่ง

เหตุบรรเทาโทษ เพิ่มโทษ ลดโทษ และรอการลงโทษ
เหตุบรรเทาโทษ เป็นการกำหนดโทษให้เหมาะสมกับแต่ละบุคคลเพื่อให้โอกาสผู้กระทำความผิดได้มีโอกาสกลับตัวเป็นพลเมืองดี
มีหลักคือ
• ใช้หลังจากที่เพิ่มโทษแล้ว
• เป็นดุลยพินิจของศาล
• ลดได้ไม่เกินกึ่งหนึ่งของโทษที่จะลง
เหตุบรรเทาโทษได้แก่ เป็นผู้โฉดเขลาเบาปัญญา อยู่ในความทุกข์อย่างสาหัส มีคุณความดีมาก่อน รู้สึกความผิดและพยายามบรรเทาผลร้าย หรือให้ความรู้แก่ศาลอันเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา หรือมีเหตุอื่นๆที่สมควร
เหตุเพิ่มโทษ ลดโทษ และรอการลงโทษ เป็นการกำหนดโทษให้เหมาะสมกับแต่ละบุคคลเพื่อป้องกันสังคม และแก้ไขผู้กระทำผิดให้กลับตนเป็นพลเมืองดีและกลับเข้าอยู่ในสังคมได้ต่อไป
การพยายามกระทำความผิด คือการกระทำความผิดที่พ้นขั้นตอนการลงมือกระทำความผิดแล้วแต่กระทำความผิดนั้นไม่บรรลุผล
ตามที่ต้องการมี ๒ กรณี คือ
กระทำการไปไม่ตลอดจนความผิดสำเร็จซึ่งอาจเกิดจากการสมัครใจเองหรือถูกขัดขวางจากภายนอกก็ได้
ได้กระทำไปตลอดแล้วแต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผลตามที่ต้องการ
ผู้ที่พยามกระทำความผิดต้องรับโทษ ๒ ใน ๓ ส่วน ของโทษสำหรับความผิดนั้น
การร่วมกันกระทำความผิด
การร่วมกันกระทำความผิดหรือที่เรียกกันว่า “ตัวการ” คือ การที่บุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไปตกลงใจร่วมกันที่จะกระทำความผิดเดียวกัน ซึ่งอาจมีการแบ่งหน้าที่กันทำเพื่อหวังผลในการกระทำความผิดนั้น ทุกคนต้องรับโทษสำหรับความผิดนั้น
การก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิด
การก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดหรือที่เรียกว่า “ผู้ใช้” คือ การที่ทำให้ผู้อื่นกระทำความผิดไม่ว่าจะเป็นการบังคับ ขู่เข็ญ จ้างวาน ยุยงส่งเสริม หรือด้วยวิธีการใด ทุกคนต้องรับโทษสำหรับความผิดนั้น แต่ถ้าผู้ถูกใช้มิได้กระทำตามที่ถูกใช้ ผู้ใช้ต้องรับโทษเพียง ๑ ใน ๓

การสนับสนุนการกระทำความผิด
การสนับสนุนการกระทำความผิด คือ การที่เข้าไปมีส่วนในการกระทำความความผิดที่ยังไม่เป็นตัวการแต่เข้าไปช่วยเหลือให้ความสะดวกก่อนหรือขณะกระทำความผิดต้องรับโทษ ๒ ใน ๓
อายุความ
อายุความ เป็นระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้เพื่อมิให้ผู้กระทำผิดต้องมีชนักติดหลังไปตลอดชีวิตและเป็นการที่เร่งรัดคดีให้ได้ตัวผู้กระทำความผิด
มาพิจารณาโดยเร็วเนื่องจากการปล่อยระยะเวลาให้เนิ่นนานไปจะทำให้ไม่สามารถหาพยานหลักฐานมาพิสูจน์ความผิดได้
อายุความมี ๓ ประเภท คือ
• อายุความฟ้องคดีทั่วไป มี ๕ ระดับ คือ
๒๐ ปี สำหรับความผิดที่มีระวางโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุก ๒๐ ปี
๑๕ ปี สำหรับความผิดที่มีระวางโทษจำคุกกว่า ๗ ปี แต่ยังไม่ถึง ๒๐ ปี
๑๐ ปี สำหรับความผิดที่มีระวางโทษจำคุกกว่า ๑ ปี ถึง ๗ ปี
๕ ปี สำหรับความผิดที่มีระวางโทษจำคุกกว่า ๑ เดือน ถึง ๑ ปี
๑ ปี สำหรับความผิดที่มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่ ๑ เดือนลงมา หรือต้องระวางโทษอย่างอื่น
• อายุความฟ้องคดีความผิดอันยอมความได้ นอกจากถือตามอายุความฟ้องคดีทั่วไปแล้ว ยังต้องร้องทุกข์ภายใน ๓ เดือน นับแต่วันที่รู้เรื่องและรู้ตัวผู้กระทำความผิดด้วย
• อายุความฟ้องขอให้กักกัน จะฟ้องไปพร้อมกับการฟ้องคดีอันเป็นเหตุที่ขอให้กักกันหรืออย่างช้าภายใน ๖ เดือนนับแต่วันที่ฟ้องคดีดังกล่าว

ความผิดต่อแผ่นดินและความผิดต่อส่วนตัว
ความผิดต่อแผ่นดิน คือ ความผิดที่มีผลกระทบต่อผู้ที่ถูกกระทำแล้วยังมีผลกระทบต่อสังคม รัฐจึงต้องเข้าดำเนินการเอาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษให้ได้แม้ผู้ที่ถูกกระทำจะไม่ติดใจเอาความกับผู้กระทำผิดต่อไปแล้วก็ตามเพื่อป้องกันสังคม
ความผิดต่อส่วนตัว คือ ความผิดที่มีผลกระทบต่อผู้ที่ถูกกระทำ แต่ไม่มีผลกระทบต่อสังคมโดยตรง ดังนั้น เมื่อผู้ที่ถูกกระทำจะไม่ติดใจเอาความกับผู้กระทำผิดต่อไปแล้ว รัฐก็ไม่จำต้องเข้ไปดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดอีกต่อไป
การกระทำความผิดใดเป็นความผิดต่อแผ่นดินและความผิดต่อส่วนตัวนั้นมีหลักอยู่ว่า ความผิดใดเป็นความผิดต่อส่วนตัวต้องมีกฎหมายกำหนดไว้โดยชัดแจ้ง ความผิดนอกจากนั้นถือเป็นความผิดต่อแผ่นดิน

ที่มา
http://www.google.co.th/search?hl=th&q=%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B8%9B%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%9E+%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%81%E0%B8%8E%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%8D%E0%B8%B2&gs_sm=e&gs_upl=3779l7733l0l8565l7l7l0l0l0l5l1468l4254l2-1.6-3.1l6l0&bav=on.2,or.r_gc.r_pw.,cf.osb&biw=1280&bih=890&um=1&ie=UTF-8&tbm=isch&source=og&sa=N&tab=wi

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น