วันศุกร์ที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2555

การแบ่งเขตการปกครองของไทย

ประเทศไทย แบ่งปกครองออกเป็น 3 รูปแบบ คือ การปกครองส่วนกลาง การปกครองส่วนภูมิภาค และการปกครองส่วนท้องถิ่น โดยมีการแบ่งออกเป็น 76 จังหวัด สำหรับการปกครองส่วนภูมิภาค และมีการปกครองส่วนท้องถิ่นอีกหลายแหล่ง เป็นต้นว่า กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา ก่อนหน้าปี พ.ศ. 2515 กรุงเทพมหานครเคยเป็นส่วนหนึ่งของการปกครองส่วนภูมิภาค
แต่ละจังหวัดแบ่งออกเป็นอำเภอ ปัจจุบันประเทศไทยมี 878 อำเภอ และ 50 เขตในกรุงเทพมหานคร แต่ละจังหวัดมีอำเภอเมือง ยกเว้นจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งมีชื่อจังหวัดและชื่ออำเภอเมืองเหมือนกัน แต่ละอำเภอสามารถแบ่งออกได้เป็นตำบล ซึ่งมีระดับเทียบเท่ากับ "แขวง" ในกรุงเทพมหานคร แต่ละตำบลสามารถแบ่งออกเป็นหมู่บ้านซึ่งเป็นเขตการปกครองที่เล็กที่สุด

การปกครองส่วนท้องถิน

ประเทศไทยมีรูปแบบการปกครองส่วนท้องถิ่น 2 รูปแบบใหญ่ ๆ คือ
  1. การปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบทั่วไป เป็นรูปแบบการปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีอยู่ทั่วประเทศทุกจังหวัด ได้แก่ เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล และองค์การบริหารส่วนจังหวัด
  2. การปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ มีการบริหารจัดการไม่เหมือนกับรูปแบบทั่วไป ได้แก่ กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา


การแบ่งเขตการปกครองอย่างไม่เป็นทางการ

กรุงเทพมหานครและจังหวัดอีก 5 จังหวัดซึ่งอยู่ติดกับกรุงเทพมหานคร หรือที่เรียกว่า "ปริมณฑล" มักเรียกรวมกันว่าเป็น กรุงเทพมหานครและปริมณฑล เนื่องจากเขตเมืองของกรุงเทพมหานครได้ขยายมาถึงพื้นที่ดังกล่าวแล้ว
การแบ่งภูมิภาคในประเทศไทยมีการจำกัดความที่แตกต่างกัน โดยการแบ่งอย่างเป็นทางการของราชบัณฑิตยสถานได้แบ่งภูมิภาคของไทยออกเป็น 6 ภาค

การแบ่งเขตการปกครองในอดีต

แผนที่มณฑลเทศาภิบาล พ.ศ. 2458 โดยมีเส้นแบ่งจังหวัดในปัจจุบันประกอบ
เริ่มต้นแต่ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 มาจนถึง พ.ศ. 2475 ประเทศไทยเคยมีเขตการปกครองซึ่งเรียกว่า มณฑลเทศาภิบาล โดยมีพื้นที่ที่ใหญ่กว่ามณฑล เรียกว่า บริเวณจังหวัดแรก ๆ ของไทยเคยถูกเรียกว่า เมือง โดยได้มีการพัฒนามาจากนครรัฐในประวัติศาสตร์ มีทั้งเมืองซึ่งเป็นอิสระจากกรุงเทพมหานคร (หรือที่กลายมาเป็นจังหวัดในปัจจุบัน) เช่นเดียวกับเมืองที่อยู่ภายใต้การปกครองดูแลของเมืองใกล้เคียงที่มีอำนาจเหนือกว่า หรือเป็นส่วนหนึ่งของรัฐบรรณาการกึ่งเอกราช ในปี ค.ศ. 1906 เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงคำว่า "เมือง" ไปเป็น "จังหวัด" ก่อนที่จะแล้วเสร็จในปี ค.ศ. 1916
หลังจากการยกเลิกมณฑล เขตการปกครองใหม่ที่ใช้แทนเรียกว่า ภาค ได้รับการจัดตั้งขึ้น ในตอนแรก ประเทศไทยได้แบ่งออกเป็น 4 ภาค โดยมีการเปลี่ยนแปลงโครงร่าง ในปี ค.ศ. 1951 ได้เพิ่มเป็น 9 ภาค และในปี ค.ศ. 1956 การแบ่งเขตการปกครองแบบนี้ก็ได้ถูกยกเลิกเช่นเดียวกัน
ในอดีต เทศบาลเคยถูกเรียกว่า สุขาภิบาล ซึ่งส่วนใหญ่มีหน้าที่เกี่ยวกับงานด้านสุขาภิบาล เช่น การกำจัดของเสีย สุขาภิบาลถูกก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1898 และได้ถูกยกระดับเป็นเทศบาลตำบลทั้งหมดเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2542
จนกระทั่ง พ.ศ. 2550 กิ่งอำเภอถือว่าเป็นอำเภอประเภทพิเศษ ซึ่งบางส่วนยังคงเป็นส่วนหนึ่งของอีกอำเภอหนึ่ง โดยปกติแล้ว กิ่งอำเภอซึ่งได้รับการจัดตั้งใหม่มักจะได้รับการพัฒนาจนกลายเป็นอำเภออย่างสมบูรณ์ภายในเวลาไม่กี่ปี เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2550 กิ่งอำเภอ 81 แห่งได้รับการพัฒนาจนกลายเป็นอำเภอโดยสมบูรณ์ ถึงแม้ว่ากิ่งอำเภอหลายแห่งจะยังไม่ถึงเกณฑ์ของอำเภออย่างสมบูรณ์ในเวลานั้นก็ตาม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น