วันศุกร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

เขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน


"ฮ่องกง" เป็นภาษากวางตุ้ง ซึ่งมาจากภาษาจีนกลาง ว่า "เซียงก่าง" ความหมายก็ไม่เหมือนใคร หมายความว่า "ท่าเรือหอม" มีความเป็นมา สืบเนื่องมาแต่ครั้งที่กวางตุ้ง เป็นแหล่งปลูกไม้หอมชนิดหนึ่ง ส่งขายเป็นสินค้าออก โดยที่ต้องมาขนถ่ายสินค้ากัน ที่ท่าเรือน้ำลึกตอนใต้สุดของแผ่นดินจีน

เมื่อราวกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 ได้มีเรือของกองทัพอังกฤษ นำโดยกัปตัน Charles Elliot (ชาร์ลส์ อีเลียต) แล่นผ่านน่านน้ำระหว่าง แหลมเกาลูนและเกาะแห่งหนึ่งที่ร่ำลือกันว่า เป็นที่หลบลมพายุของพวกโจรสลัด กัปตันอีเลียต เกิดได้กลิ่นหอมชนิดหนึ่ง จึงจอดเรือและขึ้นฝั่ง ส่งล่ามลงไปสอบถาม ได้ความว่าเป็นท่าเรือหอม ใช้ขนถ่ายไม้หอม กัปตันรับทราบด้วยความประทับใจ
เมื่อกัปตันอีเลียตเดินทางกลับสู่อังกฤษและได้รับการแต่งตั้งให้ไปประจำการฝ่ายการพาณิชย์ของอังกฤษในภาคพื้นเอเซีย ซึ่งขณะนั้นเอง ประเทศอังกฤษซึ่งปกครองโดยพระนางวิกตอเรีย กำลังต้องการอาณานิคมในแถบทะเลจีนใต้ เพื่อใช้เป็นที่จัดส่งสินค้า หรือฝิ่นนั่นเอง และประจวบเหมาะพอดีกับที่ฝ่ายอังกฤษและจีน กำลังมีปัญหาเรื่องการค้าฝิ่นในแถบกวางตุ้งของจีน จนทำให้เกิดสงครามฝิ่นครั้งที่ 1 ขึ้น ในปี ค.ศ. 1839 กัปตันอีเลียตจึงตัดสินใจยกพลขึ้นบกที่ท่าเรือกลิ่นหอม และประกาศให้ดินแดนแถบนั้นเป็นของอังกฤษ ในวันที่ 26 มกราคม ค.ศ. 1841
ว่ากันว่ามีเหตุการณ์ที่น่าขัน และสร้างความขายหน้าให้กับพระราชินีวิคตอเรียยิ่งนัก ที่กองทหารอังกฤษเข้ายึดเกาะที่มีแต่หินโสโครก หาประโยชน์ไม่ได้เลย กัปตันอีเลียตจึงถูกลงโทษด้วยการส่งไปเป็นกงสุลอังกฤษประจำรัฐเท็กซัสแทน
ตั้งแต่นั้น จีนและอังกฤษกระทบกระทั่งกันเรื่องการค้าฝิ่นเรื่อยมา เกิดสงครามฝิ่นถึงสองครั้ง หลังสงครามฝิ่นครั้งที่สองนี่เอง อังกฤษได้บีบบังคับให้จีนทำสัญญา โดยให้อังกฤษเช่าฮ่องกงทั้งหมด เป็นเวลา 99 ปี โดยกำหนดวันหมดสัญญาไว้วันที่ 30 มิถุนายน ค.ศ. 1997 ด้วยภูมิประเทศของฮ่องกงเอง ที่เป็นเมืองท่าน้ำลึก เหมาะแก่การจอดเรือสินค้าขนาดใหญ่ จึงทำให้ฮ่องกงกลายเป็นเมืองท่าที่สำคัญของโลก

ผู้สำเร็จราชการคนแรกที่มาประจำยังเกาะฮ่องกง ท่านลอร์ด Palmerston เคยขนานนามเกาะแห่งนี้ไว้ว่า "หินไร้ค่า" แต่อังกฤษได้ช่วยวางรากฐานการศึกษา การปกครอง และผังเมืองให้ฮ่องกงเป็นอย่างดี เพียง ชั่วพริบตาเดียว ฮ่องกงได้กลับกลายเป็นศูนย์กลางพาณิชย์และยังเป็นประตูเปิดสู่ประเทศจีน ปลายศตวรรษที่ 19 ดินแดนตอนปลายคาบสมุทรเกาลูนก็ตกเป็นอาณานิคม และอังกฤษยังได้สิทธิเช่าเขตนิวเทอริทอรี่ส์ เป็นเวลา 99 ปี ซึ่งอังกฤษได้ทำพิธีส่งคืนเกาะฮ่องกง ให้แก่จีนเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 1997 ไปเรียบร้อย ทั้งนี้เคยมีการเจรจาระหว่างอังกฤษโดย นางมาร์กาเร็ต แทตเชอร์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น กับ นายเติ้งเสี่ยวผิง ผู้นำฝ่ายจีน เพื่อเจรจาขอเช่าเกาะฮ่องกงต่อ แต่ได้รับการปฏิเสธ และในปีเดียวกันนั้น วันที่ 26 กันยายน ผู้นำทั้งสองจึงเปิดเจรจาอีกครั้งและลงนามในสัญญา โดยมีสาระสำคัญว่า อังกฤษจะยอมส่งมอบคืนเกาะฮ่องกงให้กับจีน และจีนได้ให้สัญญาว่าจะยอมให้ฮ่องกง อยู่ในฐานะ "เขตปกครองตนเอง" ภายใน 50 ปี
ปัจจุบันจีนได้มอบหมายให้ นายตงจิ้นหวา ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการฮ่องกง และจีนได้ร่างรัฐธรรมนูญ โดยกำหนดให้รัฐบาลปักกิ่งรับผิดชอบด้านกิจการต่างประเทศ การทหาร และความมั่งคงเท่านั้น ส่วนการบริหารยังคงให้อิสระแก่ชาวฮ่องกงเหมือนเดิม
อย่างไรก็ตามด้วยทำเลอันเหมาะสม เกาะฮ่องกงก็ยังมีบทบาทสำคัญยิ่งในศตวรรษที่ 21 ในฐานะเมืองท่าการค้าระหว่างประเทศ ฐานที่ตั้งสำคัญของผู้ผลิต และศูนย์กลางเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก


รูปแบบการปกครอง
ฮ่องกงเป็นเขตบริหารพิเศษที่ขึ้นตรงต่อรัฐบาลกลางของสาธารณรัฐประชาชนจีน รัฐบาลจีนได้ใช้นโยบาย ‘หนึ่งประเทศสองระบบ’ ในการปกครองฮ่องกง ตามกฎหมายพื้นฐานที่ใช้ในการปกครองและบริหารฮ่องกง ที่สภาประชาชนจีนได้อนุมัติและประกาศใช้เป็นกฎหมาย เมื่อวันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2533 โดยให้สิทธิฮ่องกงในการปกครองตนเองอย่างอิสระ สามารถดำเนินนโยบายทางด้านเศรษฐกิจ การค้า การเงิน การพาณิชย์ ฯลฯ ได้ตามระบบเสรี รัฐบาลจีนได้กำหนดให้ฮ่องกงสามารถดำเนินนโยบายเศรษฐกิจเสรีต่อไปได้อีกเป็นเวลา 50 ปี นับตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2540 ซึ่งเป็นวันที่รัฐบาลจีนได้รับฮ่องกงกลับคืนจากรัฐบาลอังกฤษ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น