วันศุกร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

การเมืองการปกครองเปรียบเทียบ

การเมืองการปกครองเปรียบเทียบ

ศึกษาลักษณะการปกครองของประเทศอังกฤษ สหรัฐอเมริกา และฝรั่งเศส เพื่อเป็นแนวทางทำความเข้าใจเกี่ยวกับลักษณะการปกครองของประเทศไทยในปัจจุบันที่นำลักษณะการปกครองของประเทศต่างๆ เข้ามาปรับปรุงในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (พ.ศ.2540)
การปกครองประเทศอังกฤษ : ระบบรัฐสภา


รัฐธรรมนูญอังกฤษเป็นรัฐธรรมนูญที่ไม่มีลายลักษณ์อักษร แต่กระจัดกระจายอยู่ในรูปแบบต่างๆ กันในรูปของพระราชบัญญัติต่างๆ บ้าง เช่น พระราชบัญญัติว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ปี ค.ศ.1689 พระราชบัญญัติสืบสันตติวงศ์ ปี 1701 เป็นต้น หรือในรูปของข้อตกลงและขนบธรรมเนียม เช่น การจัดตั้งคณะรัฐมนตรีไม่มีกฎหมายฉบับไหนบ่งบอกให้มีการจัดตั้ง แต่คณะรัฐมนตรีวิวัฒนาการจากภาคปฏิบัติจนกลายเป็นขนบธรรมเนียมที่ยอมรับกันมาเกือบ 300 ปีแล้ว
รัฐธรรมนูญของอังกฤษ จึงเป็นเรื่องราวของวิวัฒนาการของประวัติศาสตร์การเมือง เกิดขึ้นหรือเป็นผลลัพธ์ของกระบวนการร่วมมือ และการขัดแย้งระหว่างพระมหากษัตริย์และขุนนาง และกว่าจะเข้ารูปเข้ารอยดังเช่นปัจจุบันก็ต้องผ่านสงครามปฏิวัติถึง 2 ครั้งใหญ่ในศตวรรษที่ 17 และยังจะต้องมีการปฏิรูปกันขนานใหญ่ในศตวรรษที่ 19 และ 20 ถึงจะประกฎในรูปแบบการปกครองแบบประชาธิปไตยดังที่ปรากฏ การต่อสู้ดิ้นรนระหว่างขุนนางอังกฤษและมหากษัตริย์ในอดีต เป็นการต่อสู้เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของกลุ่มชนชั้นของตนเองและตามแนวความคิดเชื่อถือตามลัทธิศาสนา แต่ผลของการต่อสู้เรื่องนี้ชักนำให้เกิดระบบการปกครองที่กลายเป็นพื้นฐานของระบบการปกครองประชาธิปไตยในสมัยต่อมาการปกครองของอังกฤษมิได้มีการแบ่งแยกอำนาจอธิปไตยออกเป็น อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ ในลักษณะที่ชัดเจน

หลักการปกครองโดยกฎหมาย (Rule of Law)
หลักการปกครองโดยกฎหมายของอังกฤษ เป็นหลักที่มีความหมาย 3 ประการ คือ
1. ต้องไม่ใช้กำลังปกครอง ต้องใช้กฎหมายปกครอง ประชาชนต้องเคารพกฎหมาย
2. คนอังกฤษถูกปกครองโดยกฎหมายและโดยกฎหมายเท่านั้น การจะลงโทษหรือจับกุมคนอังกฤษโดยปราศจากการไต่สวนตามกระบวนการของกฎหมายและโดยไม่มีความผิดตามที่ระบุไว้ในกฎหมายจะกระทำมิได้
3. อำนาจของพระมหากษัตริย์และรัฐมนตรีนั้นมีต้นกำเนิดมาจากพระราชบัญญัติของรัฐสภา

ทั้งนี้ ประเทศอังกฤษยังมีหลักการจำกัดอำนาจของกษัตริย์ หรือผู้ปกครองนี้กับหลักสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล เป็นหลักประกันให้เกิดระบบเผด็จการ ซึ่งมาจากการปฏิวัติที่รุ่งโรจน์ ปี ค.ศ.1688 โดยได้กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (The Bill of Rights) ปี ค.ศ.1689 และพระราชบัญญัตินี้ได้กำหนดข้อจำกัดของอำนาจพระมหากษัตริย์ที่จะกระทำการใดๆ โดยไม่ปรึกษารัฐสภาไม่ได้

หลักอำนาจสูงสุดของรัฐสภา (Supremacy of Parliament)
อำนาจสูงสุดหรืออธิปไตยเป็นของรัฐสภา หมายความว่า รัฐสภามีสิทธิที่จะออกกฎหมาย หรือยกเลิกกฎหมายใดๆ ก็ได้ และไม่มีผู้ใดในอังกฤษที่จะเพิกเฉย หรือละเมิดต่อกฎหมายของรัฐสภา หลักของอำนาจสูงสุดของรัฐสภานี้หมายความว่า ในระบบการปกครองของอังกฤษ อธิปไตยอยู่ที่องค์กรรัฐสภาอันประกอบด้วย สภาขุนนาง สภาผู้แทน และพระมหากษัตริย์ ฉะนั้น แม้ว่าจะมีการแบ่งหน้าที่กันทำ คือ คณะรัฐมนตรีในฐานะเป็นคณะรัฐบาลของพระมหากษัตริย์ทำหน้าที่บริหาร แต่อำนาจสูงสุดอยู่ที่รัฐสภา ซึ่งสามารถควบคุมการปฏิบัติงานของคณะรัฐมนตรี ตลอดจนสามารถทำหน้าที่เป็นศาลสูงสุดด้วย การทำหน้าที่เป็นศาลสูงนั้นเป็นบทบาทในส่วนของสภาขุนนาง (House of Lords)

รัฐธรรมนูญอังกฤษนั้นจึงไม่ได้แบ่งแยกอำนาจอธิปไตย แต่เป็นการแบ่งบทบาทหน้าที่ ฉะนั้นจึงมีกระบวนการ รวมอำนาจไว้ที่รัฐสภา (Fusi on of Power) แต่ก็มีสายสัมพันธ์เชื่อมโยงกันที่เรียกว่า Organic Link โดยสถาบันรัฐสภา การที่รัฐสภาอังกฤษวิวัฒนาการในรูปนี้ เป็นเรื่องของเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์มิได้มีความจงใจจะให้เกิดระบอบประชาธิปไตยแต่อย่างใด อำนาจของรัฐสภามีเพิ่มขึ้นจากเดิมเป็นเพียงให้ความร่วมมือในการเพิ่มภาษีของพระมหากษัตริย์ ต่อมากลายเป็นผู้ให้ความเห็นชอบ ต่อมาอีกรัฐสภาก็เริ่มมีอำนาจในด้านออกกฎหมาย ซึ่งเริ่มต้นเป็นการตรากฎหมาย เพื่อแก้ไขขจัดข้อเดือดร้อนของประชาชนเท่านั้น ต่อมาขยายไปเป็นอำนาจนิติบัญญัติทั่วไป

ส่วนตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มาจาการที่พระเจ้ายอร์จที่ 1 (George I) แห่งราชวงศ์ Hannover ซึ่งทรงได้รับการเชิญให้มาปกครองประเทศอังกฤษในช่วง ค.ศ.1715 ซึ่งราชวงศ์นี้มาจากเยอรมันนี พระองค์จึงทรงไม่เข้าใจภาษาอังกฤษ ได้ทรงมอบหมายงานการประชุมสภาเสนาบดีให้แก่ เซอร์โรเบิร์ต วอลโปล ทำหน้าที่เป็นประธาน นี้คือจุดกำเนิดของตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี ซึ่งตอนนั้น เซอร์โรเบิร์ต วอลโปล ได้รับสมญานามภายหลังว่า “Primus Inter Pares” หรือ First among Equals คือ ผู้อันดับ 1 ในจำนวนผู้ที่เท่ากัน นั้นคือตำแหน่ง Prime Minister ซึ่งเป็นชื่อเรียกสมัยต่อมา ในการคัดเลือกรัฐมนตรีก็คัดเลือกจากบุคคลที่จะได้รับเสียงสนับส่วนใหญ่จากรัฐสภา นี้คือจุดเริ่มต้นระบบคณะรัฐมนตรี ซึ่งเปรียบเสมือนคณะกรรมการของรัฐสภาที่สมาชิกเลือกขึ้นมา เพื่อทูลเกล้า ให้พระมหากษัตริย์แต่งตั้ง

ผลของการปฏิบัติดังกล่าว ได้กลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติในสมัยต่อๆ มา สมัยนี้ธรรมเนียมปฏิบัติจะกำหนดให้พระมหากษัตริย์แต่งตั้งบุคคลที่เป็นหัวหน้าพรรคที่ได้รับเสียงข้างมากในรัฐสภา และเมื่อนายกรัฐมนตรีคนไหนไม่ได้รับความไว้วางใจจากรัฐสภา ก็จะต้องเชิญหัวหน้า ฝ่ายค้าน ซึ่งได้รับเสียงส่วนมากเข้าจัดตั้งรัฐบาลแทน และรัฐบาลต้องรับผิดชอบร่วมกันต่อนโยบาย หากผู้ใดไม่เห็นชอบด้วยกับนโยบาย ต้องลาออก ขณะเดียวกันก็วิพากษ์วิจารณ์นโยบายของคณะรัฐมนตรีไม่ได้ ขนบธรรมเนียมนี้ค่อยๆ วิวัฒนาการมาจากภาคปฏิบัติ ซึ่งเมื่อมีรัฐมนตรีท่านหนึ่งยึดถือปฏิบัติ ท่านอื่นๆ ในภายหลังก็ปฏิบัติตาม

การขยายสิทธิการเลือกตั้งให้แก่ประชาชนทั่วไป
ในศตวรรษที่ 18 รัฐธรรมนูญฉบับที่ร่างออกมายังเรียกว่าประชาธิปไตยไม่ได้ เพราะผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งยังคงเป็นชนชั้นผู้มีทรัพย์สมบัติ ในปลายศตวรรษที่ 18 ได้เริ่มเกิดขบวนการปฏิรูปรัฐสภา และขบวนการของพวก Radlicals ซึ่งต้องการเปลี่ยนแปลงสังคมตามแผนการปฏิวัติฝรั่งเศส แต่สงครามนโปเลียนที่ยืดยาว ทำให้ขบวนการปฏิรูปพบกับอุปสรรคและแรงต้านทานจากชนชั้นต่างๆ จนกระทั่ง ค.ศ.1830 เหตุการณ์จึงเปลี่ยนแปลงไป และรัฐสภาได้ยอมรับแนวคิดการปฏิรูปโดยผ่าน พระราชบัญญัติปฏิรูป ค.ศ.1832 (Great Reform Act) ซึ่งขยายสิทธิการเลือกตั้งให้แก่ชนชั้นกลางระดับสูง และได้ปรับเขตการเลือกตั้งให้เมืองอุตสาหกรรมใหม่ได้มีผู้แทน ต่อมาในปี ค.ศ.1867 ได้มีการเปลี่ยนแปลงอีก โดยให้สิทธิการเลือกตั้งแก่กรรมกรในเมืองอีกหนึ่งล้านคน ใน ค.ศ.1884 ได้ให้สิทธิ์แก่กรรมกรในเขตชนบท ค.ศ.1918 ชายทุกคนอายุ 21 ปีขึ้นไป มิสิทธิ์ และสตรีอายุ 30 ปีขึ้นไป ปี ค.ศ.1928 สตรีอายุ 21 ปีขึ้นไปจึงมีสิทธิ์ต้องใช้เวลาประมาณ 100 ปี ประชาชนผู้มีอายุ 21 ปีขึ้นไป ทุกคนจะมีสิทธิ์ ประชาธิปไตยอังกฤษใช้เวลานานมากในการย่างก้าวไปสู่การบรรลุนิติภาวะ จากการที่ขยายสิทธิทางการเมืองอย่างช้าๆ เช่นนี้ มีผลอย่างหนึ่ง คือ ทำให้ผู้ที่จะได้สิทธิ์ต้องดิ้นรนต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิ์ทุกๆ ขั้นตอน และเมื่อได้มาแล้วก็รู้จักใช้สิทธิ์อย่างผู้รับผิดชอบ ฉะนั้น ในช่วงหลังของศตวรรษที่ 19 จะไม่เคยได้ยินได้ฟังปัญหาของการซื้อเสียงอีกเลย

ความสัมพันธ์ระหว่างสภาขุนนาง และสภาสามัญ

ภายหลังการปฏิวัติรัฐสภา ปี ค.ศ.1688 สภาขุนนางเป็นสภาที่มีอิทธิพลสูงสุด ซึ่งควบคุมการดำเนินการทางการเมืองของสภาสามัญ ผู้แทนฯ ในสภาสามัญส่วนใหญ่ ก็คือ ญาติพี่น้อง หรือผู้ใกล้ชิดของขุนางส่วนมาก และตัวนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีส่วนหนึ่งก็มาจากสภาขุนนาง ต่อมาเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงผู้มีคุณสมบัติเลือกตั้ง ขยายสิทธิให้แก่ประชาชนส่วนใหญ่ และชนชั้นกลางจากเมืองอุตสาหกรรมเริ่มเข้ามามีเสียงในสภาสามัญ อิทธิพลของสภาสามัญเริ่มสูงมากขึ้น จนในที่สุดอำนาจในสภาขุนนางในการที่จะยับยั้งกฎหมาย และพระราชบัญญัติการเงินได้เริ่มลดลง ใน ค.ศ.1911 ได้มีพระราชบัญญัติลดอำนาจสิทธิการยับยั้ง ของสภาขุนนางไว้อย่างชัดเจนนับตั้งแต่นั้นมา ผู้ที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรี จึงมาจากสภาสามัญศูนย์กลางของการเมืองจึงอยู่ที่สภาสามัญ (House of Commons)

ระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา
รัฐสภาเป็นศูนย์กลางของการปกครอง อำนาจอธิปไตยอยู่ที่สถาบันนี้ในเวลาปกติที่ไม่มีการเลือกตั้ง ไม่มีการแบ่งแยกอำนาจออกเป็น 3 ส่วนอย่างเด็ดขาด การแบ่งแยกเป็นบทบาทและหน้าที่มากกว่า เมื่อรูปแบบการปกครองมีลักษณะดังกล่าวประเด็นคำถามที่ตามมา ก็คือ จะป้องกันมิได้เกิดเผด็จการทางรัฐสภาได้หรือไม่ คำตอบก็คงจะเป็นว่า เผด็จการทางรัฐสภาคงไม่เกิดขึ้น แต่รูปแบบนี้ช่วยส่งเสริมให้รัฐบาลที่คุมเสียงข้างมากในรัฐสภาบริหารงานตามเป้าหมายได้สะดวกยิ่งขึ้น แต่จะบริหารงานอย่างราบรื่น มีความมั่นคงและมีเสถียรภาพแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับพรรคการเมืองซึ่งบังเอิญของอังกฤษเป็น ระบบสองพรรค คือมีพรรคใหญ่ๆ 2 พรรคเมื่อพรรคหนึ่งเป็นรัฐบาล อีกพรรคหนึ่งก็เป็นฝ่ายค้าน
ฉะนั้น จึงมักกล่าวกันว่า นายกรัฐมนตรีอังกฤษนั้น เมื่อได้รับเสียงสนับสนุนจากพรรคการเมืองของตนซึ่งคุมเสียงส่วนใหญ่ในรัฐสภาแล้ว จะมีอำนาจบริหารได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าประธานาธิบดีของสหรัฐเสียอีก แต่อำนาจของฝ่ายบริหารซึ่งดูจะมีมากตามระบบนี้ ก็ยังมิใช่อำนาจเผด็จการ ทั้งนี้ เพราะขนบธรรมเนียมได้ยอมรับให้มีฝ่ายค้านในรัฐสภา โดยหัวหน้าพรรคของฝ่ายค้านจะได้รับการยอมรับว่าเป็น นายกรัฐมนตรีเงา ได้รับเงินเดือนมาเป็นพิเศษสูงกว่าผู้แทนราษฎร พรรคฝ่ายค้านนี้จะทำหน้าที่ยับยั้งมิให้ฝ่ายรัฐบาลสามารถดำเนินการใดๆ ที่ขัดต่อผลประโยชน์ของส่วนรวม เพราะในที่สุดประชาชนจะเป็นผู้ตัดสินว่าใครผิดใครถูก โดยเฉพาะในสมัยเลือกตั้งซึ่งจะต้องมีขึ้นทุกๆ 5 ปี หรือภายในเวลา 5 ปี ฝ่ายค้านจึงเป็นกลไกของการถ่วงดุลอำนาจของฝ่ายรัฐบาล
รัฐธรรมนูญอังกฤษเป็นรัฐธรรมนูญฉบับเดียวในโลกที่วิวัฒนาการตามเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์อังกฤษ แต่ผู้ที่เกี่ยวข้องไม่ได้คิดถึงสิทธิหรืออุดมการณ์จะเป็นประชาธิปไตยโดยตรง แต่ต่อสู้ดิ้นรนเพื่ออำนาจและประโยชน์ของชนชั้นของตนเอง


การปกครองประเทศสหรัฐอเมริกา : ระบบประธานาธิบดี
รัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกาเป็นรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรฉบับที่เก่าแก่ที่สุดในโลกปัจจุบัน โดยเริ่มต้นจากการที่ผู้แทนของรัฐต่างๆ 12 รัฐที่มาประชุมกันที่เมืองฟิลาเดลเฟีย ปี ค.ศ.1787 นั้นโดยเจตนาจะมาเพื่อแก้ไขมาตราของรัฐธรรมนูญของสมาพันธรัฐเดิม แต่เมื่อมาถึงแล้วกลับกลายมาเป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ โดยทั้ง 55 คนที่ร่างรัฐธรรมนูญใหม่นี้ส่วนมากมีพื้นเพจากชนชั้นที่มีทรัพย์ ส่วนมากจะเอียงไปทางอนุรักษ์นิยม มีความเกรงกลัวเรื่องผลของความรุนแรงจากพลังประชาธิปไตย อันที่จริงเขาเหล่านี้พื้นเพเดิม คือ มีบรรพบุรุษที่อพยพมาจากอังกฤษ จึงได้รับการศึกษาแบบอังกฤษ ความคิดทางการเมืองของนักปรัชญา เช่น จอห์น ล็อก และมองเตสกิเออร์ มีอิทธิพลต่อกลุ่มผู้นำเหล่านี้มาก นอกจากนี้ กลุ่มผู้นำเหล่านี้ยังได้ผ่านสงครามกู้อิสรภาพปลดแอกจากอังกฤษ ฉะนั้น จึงรู้คุณค่าของอิสรภาพเป็นอย่างดี และซาบซึ้งว่าการปกครองมิใช่เรื่องการให้เสรีภาพแต่เพียงอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของการจัดตั้งรัฐบาลที่เข้มแข็งเพื่อจะบริหารประเทศได้ รูปแบบการปกครองแบบสมาพันธรัฐขณะนั้น ไม่มีการจัดตั้งรัฐบาลกลางเลยมีแต่สภาคองเกรส ซึ่งสภาคองเกรสจะผ่านพระราชบัญญัติใดๆ ได้ ก็ต่อเมื่อได้รับเสียงสนับสนุน 9 จาก 13 เสียง และถ้าหากจะแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ต้องได้รับความเห็นชอบเป็นเอกฉันท์จากทุกรัฐ
ในเมื่อระดับประเทศไม่มีรัฐบาลกลางที่จะมาจัดเก็บภาษี และไม่มีกองทัพของชาติที่จะปกป้องประเทศ สหรัฐจึงประสบปัญหาในการบริหารมากมาย เช่น ปัญหาของการใช้หนี้สงครามที่ผ่านไป ปัญหาต่างประเทศ ปัญหาการป้องกันประเทศ ปัญหาภัยจากเผ่าอินเดียนแดง ปัญหาของการรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ เป็นต้น
ฉะนั้น กลุ่มผู้นำจาก 12 รัฐ ที่มาประชุม (ขาดผู้แทนรัฐโรด ไอซ์แลนด์ 1 รัฐ) จึงเป็นผู้มีอุดมคติและมีประสบการณ์ที่ค่อนข้างลบจากรูปแบบการปกครองสมาพันธรัฐ เขาเหล่านั้นจึงเปลี่ยนใจจากเดิมที่มีเจตนามณ์จะมาแก้ไขรัฐธรรมนูญเดิม ก็กลายเป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ในบรรดาผู้นำ 55 คนนี้ มีนักคิด นักปรัชญา และรัฐบุรุษในอดีตและอนาคตหลายท่าน เช่น ยอร์จ วอชิงตัน เบนจามิน แฟรงคลิ และเจมส์ เมดิสัน เมดิสันนั้นถือกันว่า เป็นผู้สะท้อนความคิดของคนสมัยนั้นมากที่สุด จากการที่เขามีแนวความคิดก้าวหน้า ขณะเดียวกันก็ไม่หลงใหลหรือหลงละเมอกับคำว่า “เสียงของประชาชน” เสมอไป เขาคิดว่า มนุษย์เรามักเข้าข้างตนเอง สามารถทำความชั่วได้เสมอ ฉะนั้น จำเป็นต้องหาวิธีการที่จะเป็นสองอย่างควบคู่กันไป คือ ประการแรก จะต้องหาวิธีการสร้างรัฐบาลกลางให้เข็มแข็งพอที่จะปกครองคนได้ และประการที่สอง จะต้องหาวิธีการที่จะสร้างกลไกเพื่อให้รัฐบาลควบคุมตนเอง ในการสร้างรัฐบาลเพื่อให้มนุษย์ปกครองมนุษย์กันเอง ความยากลำบากจึงอยู่ที่ว่า ประการแรก จะต้องให้อำนาจแก่รัฐบาลกลางเพื่อที่จะสามารถควบคุมผู้อยู่ใต้ปกครองได้ กำหนดให้รัฐบาลสามารถควบคุมตนเองได้ และจำเป็นจะต้องมีมาตรการที่จำเป็นไว้เพื่อป้องกันผลเสียหาย เสรีภาพและเสถียรภาพมั่นคงระหว่างการสร้างรัฐบาลชาติให้มีอำนาจปกครองประเทศได้ ขณะเดียวกันธำรงรักษาสิทธิเสรีภาพของมลรัฐที่จะปกครองตนเองในระดับหนึ่ง

หลักการของรัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกา
1.รัฐธรรมนูญสร้างระบบการปกครองแบบสมาพันธรัฐ (Federation) เป็นรูปแบบที่มีทั้งรัฐบาลกลางและรัฐบาลของมลรัฐต่างๆ ประเด็นคือ จะแบบอำนาจกันอย่างไรระหว่างสองระดับนี้
มาตรา 1 ส่วนที่ 8 ได้กำหนดอำนาจของสภาคองเกรสไว้อย่างชัดเจน เช่น อำนาจที่จะจัดเก็บภาษีอากร ใช้หนี้รัฐบาล จัดการป้องกันประเทศ การกู้ยืมหนี้สิน การออกระเบียบกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการค้ากับต่างประเทศและระหว่างมลรัฐต่างๆ อำนาจที่จะผลิตเงินตราและกำหนดค่าของเงินตรา จัดตั้งกองทัพ ประกาศสงคราม และออกพระราชบัญญัติ “ที่จำเป็นและเหมาะสม” เพื่อดำเนินการตามนโยบายและอำนาจหน้าที่ดังกล่าว ในขณะเดียวกันใน มาตรา 1 ส่วนที่ 10 ก็ได้จำกัดอำนาจของมลรัฐในหลายๆ เรื่อง เช่น ห้ามมิให้มลรัฐทำสัญญากับต่างประเทศ ห้ามผลิตเงินตรา เป็นต้น ต่อมาได้แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ในมาตรา 10 กำหนดว่า อำนาจที่มิได้กำหนดให้เป็นของสหรัฐ และยังมิได้เป็นข้อห้ามสำหรับมลรัฐให้เป็นอำนาจของมลรัฐ นี่คือหลักที่เรียกกันว่า “อำนาจที่ยังคงเหลือ” ของรัฐ (Residual Power ขณะเดียวกันในมาตรา 6 ส่วนที่ 2 ของรัฐธรรมนูญก็กำหนดไว้อีกว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้และกฎหมายของรัฐที่จะออกภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ จะมีความเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ผู้พิพากษาในทุกๆ มลรัฐจะต้องยึดถือกฎหมายเหล่านี้เป็นแนวปฏิบัติ เรียกกันว่า หลักของกฎหมายสูงสุด (Supremacy Clause)
นอกจากนั้น ยังมีการประนีประนอมที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งระหว่างมลรัฐด้วยกันอง โดยกำหนดให้สภาคองเกรสประกอบด้วย 2 สภา คือ สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา สำหรับสภาผู้แทนราษฎรจะใช้หลักการเลือกตั้งโดยตรง บนพื้นฐานของจำนวนประชากรผู้มีสิทธิ ส่วนวุฒิสภากำหนดให้แต่ละรัฐส่งสมาชิกให้รัฐละ 2 คน

2.รัฐธรรมนูญสร้างระบบการแบ่งแยกอำนาจ (Separation of Powers) ผู้ร่างรัฐธรรมนูญยังไม่พอใจเพียงการแบ่งอำนาจระหว่างรัฐบาลกลางกับรัฐบาลมลรัฐเท่านั้น ยังต้องแยกอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ โดยกำหนดให้สภาคองเกรสมีอำนาจนิติบัญญัติ ประธานาธิบดีอำนาจบริหาร และศาลมีอำนาจตุลาการ ตามหลักของมองเตสกิเออร์ ในการแบ่งแยกอำนาจนี้ยังได้แยกสถาบันฝ่ายบริหารออกจากสภานิติบัญญัติค่อนข้างจะเด็ดขาด กล่าวคือ ทั้งสองสถาบันมีฐานอำนาจ แยกกัน ประธานาธิบดีได้รับการเลือกตั้งจากประชาชน มีวาระสมัย 4 ปี แต่งตั้งคณะรัฐมนตรีของท่านเอง สภาคองเกรสไม่มีอำนาจจะล้มรัฐบาล ส่วนสภาคองเกรส ก็เช่นกัน ได้รับการเลือกตั้งมาจากประชาชน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มีวาระสมัย 2 ปี และ สำหรับวุฒิสภามีวาระสมัย 6 ปี ประธานาธิบดีไม่สามารถยุบสภา
คองเกรสได้

3.รัฐธรรมนูญสร้างระบบตรวจสอบและคานอำนาจ (Checks and Balance) นอกจากจะแบ่งแยกอำนาจแล้ว ผู้ร่างรัฐธรรมนูญยังกำหนดให้มีการตรวจสอบหรือคน อำนาจซึ่งกันและกันได้ เช่น สภาคองเกรสมีอำนาจในการออกพระราชบัญญัติ แต่ประธานาธิบดีมีสิทธิที่จะยับยั้งได้ (Veto) อย่างไรก็ตาม เมื่อประธานาธิบดีได้ใช้สิทธิยับยั้งแล้ว หากร่างพระราชบัญญัตินั้นได้ผ่านการพิจารณาของสภาคองเกรสเป็นครั้งที่สอง โดยได้รับเสียงสนับสนุน 2 ใน 3 ก็จะออกเป็นกฎหมายได้ในทางกลับกันประธานาธิบดีเป็นผู้มีอำนาจ แต่งตั้งผู้พิพากษาในศาลสูงสุดและรัฐมนตรี แต่การเสนอเพื่อแต่งตั้งนี้จะต้องได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาเสียก่อน ผู้พิพากษานั้นเมื่อได้รับแต่งตั้งแล้ว แต่สภาคองเกรสก็สามารถที่จะกล่าวโทษผู้พิพากษาได้เมื่อมีเหตุหรือมลทินมัวหมอง ในทำนองเดียวกันว่าศาลสูงสุดมีอำนาจที่จะประกาศว่ากฎหมายใดขัดกับรัฐธรรมนูญ

4.รัฐธรรมนูญยึดหลักของการจัดตั้งรัฐบาลที่ได้รับการเลือกตั้งจากประชาชน หลักการที่เป็นแม่บทการปกครองของรัฐธรรมนูญสหรัฐ คือ หลักของการปกครองโดยความยินยอมเห็นชอบของประชาชน หลักการนี้จะบรรลุเป้าหมายได้ต่อเมื่อจัดให้มีระบบการเลือกตั้งในทุกตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับอำนาจการปกครอง ประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีได้รับการเลือกตั้งโดยคณะผู้เลือกตั้ง ซึ่งได้รับอาณัติจากประชาชนให้มาเลือกประธานาธิบดี ส่วนผู้แทนราษฎรในสภาล่างและวุฒิสมาชิกได้รับการเลือกตั้งเช่นกัน ผู้พิพากษาอาจจะไม่ได้รับการเลือกตั้ง แต่ประธานาธิบดีเป็นผู้แต่งตั้งโดยความเห็นชอบของวุฒิสภา ฉะนั้น จะเห็นได้ว่าผู้ร่างรัฐธรรมนูญมีศรัทธาต่อระบบการเลือกตั้งมาก และเชื่อมั่นว่า รัฐบาลที่เป็นตัวแทนของประชาชนนี้จะเป็นรัฐบาลที่ยที่สุด

5.หลักของสิทธิเสรีภาพของมนุษยชน หลักของสิทธิเสรีภาพเป็นหลักขั้นมูลฐานที่จะอำนวยให้ระบบการปกครองแบบเลือกตั้งได้เป็นประชาธิปไตยได้สมบูรณ์แบบ

โดยสรุป รูปแบบการปกครองของสหรัฐ อาจจะเรียกได้ว่า ประชาธิปไตยพหุนิยม (Pluralist Democracy) คือ อำนาจการปกครองกระจัดกระจายอยู่หลายขั้วหลายศูนย์ นอกจากนั้นยังมีรูปแบบของระบบประธานาธิบดีซึ่งรวมบทบาทของประมุขและของนายกรัฐมนตรีไว้ในคนๆ เดียวกัน จุดเด่นของรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีคุณสมบัติตรงที่มีความเรียบง่าย (Simplicity) ไม่กำหนดรายละเอียดมากมาย แต่เปิดทางกว้างๆ ไว้เพื่อให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงในอนาคต


การปกครองฝรั่งเศส : ระบบสาธารณรัฐที่ 5 จากยุคสมัยการปฏิวัติ ค.ศ.1789 ได้มีการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ไม่น้อยกว่า 9 ฉบับ ในรอบ 200 ปี เนื่องด้วยอุปนิสัยของชาวฝรั่งเศสที่ชอบลัทธิอุดมการณ์ และชอบความแตกต่างระหว่างบุคคล ในสมัยสาธารณรัฐที่ 4 ซึ่งใช้รัฐธรรมนูญฉบับหนึ่ง เสถียรภาพของคณะรัฐบาลมีปัญหามากที่ ในช่วงเวลา 12 ปี ของสาธารณรัฐนี้ (1946-1958) มีรัฐบาลถึง 13 ชุด แต่ในรัฐธรรมนูญของสาธารณรัฐที่ 5 รัฐบาลแต่ละชุดอยู่ได้ยั่งยืนมาก และนี่ก็ปกครองกันมาถึง 32 ปี แล้วยังมีเถียรภาพดีอยู่ ฉะนั้น ทั่วโลกจึงสนใจรัฐธรรมนูญฉบับที่นายพลเดอโกลได้จัดตั้งขึ้นมากว่า มีเคล็ดลับที่ทำให้ชนชาติฝรั่งเศสที่มีอารมณ์ผันแปรง่าย เดินขบวนง่าย กบฏก็ง่าย ปฏิวัติก็ง่าย แต่บัดนี้กลับสงบเงียบ และยังไม่มีทีท่าอยากจะเปลี่ยนไปเป็นระบบอื่น ประเทศฝรั่งเศสในสมัยเริ่มแรกก็มีระบบการปกครองคล้ายคลึงกับของอังกฤษในสมัยยุคศักดินา คือ อำนาจการปกครองกระจัดกระจายไปอยู่ที่ขุนนางต่างๆ กษัตริย์ฝรั่งเศสในสมัยกลางมีความอ่อนแอกว่าของอังกฤษมาก บางยุคสมัยปกครองได้เพียงครึ่งหนึ่งของประเทศในปัจจุบัน อาจจะเป็นเพราะสภาพการณ์เช่นนั้น จึงทำให้กษัตริย์ฝรั่งเศสมุ่งสร้างอำนาจส่วนกลางมากจนกระทั่งในสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่14 กษัตริย์ฝรั่งเศสที่ชาวยุโรปถือกันว่าเป็นตัวอย่างที่ดีของผู้ปกครอง คือ มีอำนาจมาก ได้จัดระเบียบการคลัง การปกครองทำให้การบริหารราชการแผ่นดินมีประสิทธิภาพสูง ถือกับทรงกล่าวเกี่ยวกับพระองค์เองว่า “รัฐคือตัวข้าพเจ้า” หรือ “ตัวข้าพเจ้าคือรัฐ” และเพราะความเข้มแข็งของพระมหากษัตริย์ ความเป็นอยู่ของขุนนางก็เริ่มเหินห่างจากประชาชนในชนบท หลังจากในสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ก็ไม่มีกษัตริย์ที่ทรงเข้มแข็งและอัจฉริยะ และเกิดปัญหารายจ่ายสูงกว่ารายได้ เพราะการสงครามนอกประเทศ ระบบการคลังเริ่มล้มเหลว ขณะเดียวกัน ขุนนางไม่ได้เอาใจใส่ต่อการปรับปรุงที่ดินของตน คอยแต่จะรีดภาษีและส่วยของราษฎร ทำให้เกิดระบบการกดขี่และระบบอภิสิทธิ์มากมาย ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจลดน้อยลง ประจวบกับการตื่นตัวทางความคิด นักปรัชญาเมธีเริ่มเผยแพร่ลัทธิ และแนวคิดใหม่ในเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชน แต่ระบบการปกครองก็ไม่สามารถจะปรับตัวให้ทันกับปัญหาและการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้
ในที่สุดได้เกิดการปฏิวัติครั้งยิ่งใหญ่ในปี ค.ศ.1789 และเกิดการต่อสู้และความรุนแรงทางความคิดระหว่างกลุ่มการเมืองต่างๆ ในช่วง 1789-1795 ทำให้ชาวฝรั่งเศสแตกแยกทางความคิด และด้วยความเป็นชนชาติเชื้อสายละตินซึ่งมีอารมณ์ศรัทธาในแนวคิดของตนเองอย่างมาก จึงไม่มีการประนีประนอมกัน
ความขัดแย้งกันและปัญหาที่เกิดการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ จะข้อนำมาเป็นประเด็นในการพิจารณา โดยจะเปรียบเทียบร่างรัฐธรรมนูญปี 1946 ซึ่งพรรคการเมืองฝ่ายซ้ายมีอิทธิพลในการร่าง กับรัฐธรรมนูญ ปี ค.ศ.1958 ซึ่งนายพลชาร์ล เดอ โกล และนักการเมืองฝ่ายขวามีอิทธิพลในการร่าง

ประการแรก ควรจะตั้งเป็นข้อสังเกตเบื้องต้นว่า เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับแรกของฝรั่งเศสเกิดจากการปฏิวัติครั้งสำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์อุดมการณ์ของนักปฏิวัติจึงมีอิทธิพลต่อรัฐธรรมนูญนี้ และฉบับอื่นๆ ที่ตามมา อุดมการณ์เหล่านี้ สรุปเป็นคำขวัญได้ 3 วลี คือ ความเสมอภาค เสรีภาพ และภราดรภาพ ซึ่งจะปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญของสาธารณรัฐที่ 4 และที่ 5 นอกจากนั้น ยังกล่าวถึงหลักอธิปไตยเป็นของปวงชนและเจตนาที่จะสร้างระบบการปกครองแบบประชาธิปไตย ซึ่งหมายถึง การปกครองของประชาชน เพื่อประชาชน อุดมการณ์ทางการเมืองเหล่านี้ไม่ปรากฏในรัฐธรรมนูญอังกฤษหรืออเมริกา

ประการที่สอง เนื่องจากฝรั่งเศสเริ่มประวัติศาสตร์สมัยใหม่โดยการล้มระบบกษัตริย์ ฉะนั้นระบบสาธารณรัฐจึงเป็นทางเลือกที่ต้องเลือก ในระบบของฝรั่งเศส จะแยกอำนาจหน้าที่ของประธานาธิบดีออกจากอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีเ มื่อได้แยกบทบาทเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนของประธานาธิบดีซึ่งจะทำหน้าที่คล้ายๆ กษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ และส่วนของนายกรัฐมนตรีจึงมีประเด็นปัญหาเกิดขึ้นในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประธานาธิบดีกับนายกรัฐมนตรี

การร่างรัฐธรรมนูญฉบับต่างๆ เพื่อแบ่งแยกบทบาทหน้าที่และความสัมพันธ์ของสองตำแหน่งนี้ จึงมีปัญหาอยู่เสมอในรัฐธรรมนูญปี 1946 ของสาธารณรัฐที่ 4 อำนาจของประธานาธิบดีจะน้อยกว่าในรัฐธรรมนูญปี 1958 ของสาธารณรัฐที่ 5

ประการแรก ในฉบับ 1946 รัฐสภาเป็นผู้เลือกตั้งประธานาธิบดี แต่ในฉบับ 1958 ผู้เลือกตั้งคือ สมาชิกของรัฐสภา นายกเทศมนตรี และสมาชิกสภาท้องถิ่น ซึ่งทำให้ฐานอำนาจของประธานาธิบดีของสาธารณรัฐที่ 5 กว้างกว่าในสมัยสาธารณรัฐที่ 4 ต่อมาในปี ค.ศ.1962 ได้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยให้ประชาชนผู้มีคุณสมบัติเลือกตั้งเป็นผู้เลือกตั้งประธานาธิบดีโดยตรง ซึ่งทำให้ฐานอำนาจของประธานาธิบดีเป็นอิสระจากรัฐสภา

ประการที่สอง ในรัฐธรรมนูญ 1946 ประธานาธิบดีมีอำนาจเสนอตัวนายกรัฐมนตรีเท่านั้น แต่การแต่งตั้งจะเกิดขึ้นเมื่อสมาชิกรัฐสภาเห็นชอบด้วยเสียก่อน แต่ในรัฐธรรมนูญ 1958 ประธานาธิบดีแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีโดยตรง นอกจากนั้นประธานาธิบดีจะมีบทบาทที่เด่นชัดในเรื่องการต่างประเทศและมีอำนาจประกาศสภาวะฉุกเฉิน อำนาจที่จะขอประชามติทั่วประเทศในเรื่องที่สำคัญของชาติ เรื่องเกี่ยวกับประชาคมยุโรป สนธิสัญญาระหว่างประเทศ และการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ประการที่สาม ความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติในรัฐธรรมนูญ 1946 ยังเป็นความสัมพันธ์ที่คล้ายกับรัฐธรรมนูญอังกฤษ กล่าวคือ รัฐสภาจะเป็นผู้เลือกตั้งประธานาธิบดีและตัวรัฐมนตรีก็มาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภา แต่ได้ฉบับ 1958 ได้แบ่งแยกฝ่ายบริหารออกจากฝ่ายนิติบัญญัติคล้ายกับของสหรัฐ ซึ่งก็คือ ผู้ที่เป็นรัฐมนตรีต้องลาออกจากสมาชิกภาพของสภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภา ในฉบับปี 1946 ให้อำนาจสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้นที่จะอภิปรายไม่ไว้วางใจได้ แต่ในฉบับ 1958 ได้ให้อำนาจทั้งสองสภาที่จะอภิปรายไม่วางใจ ทั้งนี้ทั้งสองฉบับกำหนดไว้เหมือนกันว่าก่อนลงคะแนนเสียงต้องใช้เวลา 24 ชั่วโมง หลังจากยุติการอภิปรายไปแล้ว เพื่อให้สมาชิกได้มีโอกาสทบทวนความรู้สึกต่างๆ

ในรัฐธรรมนูญฉบับ 1946 ได้ให้อำนาจแก่นายกรัฐมนตรีที่จะเสนอให้ประธานาธิบดียุบสภาได้ แต่จะกระทำไม่ได้ในช่วง 18 เดือนแรก ยกเว้นแต่สภาผู้แทนฯ ได้เสนอญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ 2 ครั้ง ในช่วง 18 เดือนนี้ แต่ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ได้ลดช่วงเวลา 18 เดือน เหลือเพียง 1 ปี

ประการที่สี่ ได้มีการแก้ไขจากแต่เดิมที่มีสภาเดียว คือ สภาผู้แทน ให้มีสองสภา แต่ก็ยังกำหนดให้วุฒิสภามีอำนาจน้อยลงให้เป็นเพียงกลั่นกรองงานเท่านั้น

โดยสรุป รัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับของฝรั่งเศสแตกต่างกันในแง่การมอบอำนาจให้แก่ประธานาธิบดีซึ่งมีมากขึ้นในปัจจุบัน เช่น อำนาจในการยุบสภา อำนาจการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี อำนาจในการประกาศสภาวะฉุกเฉิน และอำนาจในการควบคุมนโยบายการต่างประเทศและการป้องกันประเทศ ประกอบกับฐานอำนาจของสาธารณรัฐที่ 5 มีบทบาทในฐานะผู้นำของประเทศเด่นชัดมากขึ้น ความแตกต่างที่สำคัญอีกอย่าง ก็คือ การแบ่งแยกอำนาจบริหารกับอำนาจนิติบัญญัติ ทำให้รัฐบาลเป็นอิสระจากแรงกดดันของรัฐสภามากขึ้น วุฒิสภาก็มีความเป็นอิสระจากสภาผู้แทนฯ มากขึ้น (ซึ่งแต่เดิม สภาผู้แทนฯ สามารถเลือกสมาชิกวุฒิสภา 1 ใน 6 ของจำนวนทั้งหมด) เพราะมีฐานอำนาจจากการเลือกตั้งจากภูมิภาค จังหวัด และเทศบาล
การกำหนดรัฐธรรมนูญที่เน้นอำนาจบริหารมากขึ้น และวุฒิสภาก็ถ่วงดุลกับสภาผู้แทนราษฎรเช่นนี้เป็นผลงานของนายพลเดอ โกล และพรรคการเมืองฝ่ายขวา และฝ่ายกลางซึ่งมีส่วนสำคัญที่ทำให้การเมืองฝรั่งเศสมีเสถียรภาพมากขึ้นกว่าครั้งใดๆ ในประวัติศาสตร์ฝรั่งเศส
ในสาธารณรัฐที่ 4 ใช้ระบบการเลือกตั้งแบบอัตราส่วน ทำให้เกิดพรรคการเมืองมากมาย แต่ในสาธารณรัฐที่ 5 ใช้ระบบแบ่งเขต เขตละ 1 คน ให้มีการลงคะแนนเสียงได้ 2 ครั้ง ระบบนี้ทำให้จำนวนพรรคน้อยลง และยังทำให้ระบบการเมืองของฝรั่งเศสพัฒนาขึ้นไปมากกว่าภายหลังสงคราม จำนวนพรรคการเมืองลดลงจากเดิมในปี ค.ศ.1956 ซึ่งมีพรรคการเมือง 16 พรรค ได้ลดลงเหลือ 5 พรรค ใน คศ.1967 จากแต่เดิมที่พรรคมุ่งหาอิทธิพลให้แก่พรรคตนเอง โดยไม่สามารถจะจัดตั้งรัฐบาลได้ แต่ในระบบใหม่พรรคเริ่มรวมตัวกันเป็นกลุ่มใหญ่ขึ้น และมุ่งจะจัดตั้งรัฐบาล

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น